บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

"วิทยาลัยอาชีวศึกษาจันทร์รวี ร่วมใจ เทิดไท้องค์ราชินี"

วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญที่คนไทยทุกคนรู้กันดีว่า ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และถือเป็น "วันแม่แห่งชาติ" ของประเทศไทยที่ทุกคนให้ความสำคัญ ซึ่งนับตั้งแต่วันแม่แห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมา ก็จะมีการตั้งคำขวัญประจำวันแม่แห่งชาติ เพื่อให้ลูก ๆ ทุกคนได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อมารดา


          และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ที่วันแม่แห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 เป็นต้นมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติแก่สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อจะนำไปเผยแพร่เทิดพระคุณแม่ทั่วประเทศ


โดยคำขวัญวันแม่ประจำปีต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้
 
 คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2544



         "พระองค์แรกผู้แสนดีให้ชีวิต  ครูคนแรกผู้ประสิทธิ์การศึกษา สองหัตถ์โอบนคราพาร่มเย็น รวมคุณค่านี้ได้แก่แม่เราเอง" 


 คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2545

         "แม่คือพระประจำอยู่ในบ้าน  บูชาท่านไว้เถิดเกิดมิ่งขวัญ พระคุณแม่เลิศล้ำเกินรำพัน แม่จึงเป็นคนสำคัญทุกวันไป"



 คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2546

         "สามร้อยหกสิบห้าวันคือวันแม่  มิใช่แค่วันใดให้นึกถึงสม่ำเสมอสมัครจิตคิดคำนึง เหมือนแม่ซึ่งรักลูกครบทุกวัน"

 คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2547
          สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติปีนี้ความว่า         "แม่คือผู้ให้ ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใดใด นอกจากความรักความเข้าใจจากลูก"            พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ประทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติปีนี้ความว่า         "แม่ไม่อาจอยู่กับลูกได้ชั่วชีวิต ควรสอนให้เขารู้จักคิดและเลือกปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง"



 คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2548

         "ดุจดังแม่ผู้ประเสริฐบังเกิดเกล้า เลี้ยงเราทุกคนมาจนใหญ่ ทุกคำข้าวคือสินแผ่นดินไทย ควรตรองใจทดแทนคุณแผ่นดิน"

 คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2549

         "รักในหลวงพร้อมใจใส่เสื้อเหลือง รักบ้านเมืองจงน้อมใจให้สร้างสรรค์ ใส่สีเดียวแล้วใจเดียวกลมเกลียวกัน รักเช่นนั้นชาติของตนจึงพ้นภัย"


 คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2550         "ข้าวในนาปลาในน้ำคำโบราณ คือตำนานความอุดมสมบูรณ์สิน ฝากลูกไทยร่วมห่วงแหนรักแผ่นดิน ถนอมไว้อย่าให้สิ้นแผ่นดินไทย"
 คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2551
         "เมื่อเกิดมาอาศัยถิ่นแผ่นดินไหน ควรมีใจกตัญญูรู้คุณถิ่น หากคนไทยรู้ตอบแทนคุณแผ่นดิน จักไม่มีวันสิ้นแผ่นดินไทย"

 คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2552

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี 2552 ความว่า

          "แผ่นดินนี้ปู่ย่าตายายสร้าง  เคยทอดร่างลงถมถิ่นแผ่นดินแม่ ขอลูกไทยรักษามั่นไม่ผันแปร   เป็นไทยแท้มิใช่ไทยแต่ในนาม"

 คำขวัญวันแม่ ประจำปี 2553

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี 2553 ความว่า

          "แผ่นดินนี้แม่ของลูกใช้ปลูกข้าว กี่แสนก้าวที่เดินซ้ำย่ำหว่านไถ บำรุงดินจนอุดมสมดังใจ หวังนาไทยเป็นของไทยไปนิรันดร์"
เเละในวันที่ 11 สิงหาคมที่จะถึงนี้ วิทยาลัยอาชีวศึกษาจันทร์รวี จะได้จัดกิจกรรมวันเเม่ขึ้นตั้งเเต่เวลา 08.30-11.30 น.

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความสําคัญวันภาษาไทยในจันทร์รวี

วันภาษาไทยแห่งชาติ



วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. วันภาษาไทย
รู้กันหรือไม่ว่าภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ก็มีวันที่ระลึกถึงภาษาไทยของเราด้วยเหมือนกัน โดยในวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ประเทศไทยได้กำหนดให้เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ”

ความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ

สืบเนื่องจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและ ความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์,วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

สำหรับเหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ นั้นเพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า “เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้… สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก…”
นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ซึ่งในโอกาสต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัย และความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส อย่างในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า “ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ”
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยะภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่ สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น

วัตถุประสงค์ในการจัดวันภาษาไทยแห่งชาติ มีดังต่อไปนี้

1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542
3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติ ให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับ ให้มีสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชนทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชน ทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ
ประโยชน์ที่คาดว่าได้รับจากการมีวันภาษาไทยแห่งชาติ
1. วันภาษาไทยแห่งชาติ จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ “ภาษาประจำชาติ” ของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ
2. บุคคลในวงวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษา และวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ
3. ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทย ตลอดไป
กิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ
กิจกรรมในวันนี้ ก็จะมีทั้งของสถาบันการศึกษา,หน่วยงานภาครัฐฯ และเอกชน ที่จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดนิทรรศการ,การอภิปรายทางวิชาการ,การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน เป็นต้น
ภาษาไทยถือเป็นภาษาแห่งชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราคนไทยควรภาคภูมิใจ เพราะบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งภาษาที่เป็นของตัวเอง ดังนั้นเราควรอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่ และสืบทอดต่อไปให้ลูกหลานได้ศึกษา หากเราคนไทยไม่ช่วยกันรักษาไว้ สักวันหนึ่งอาจจะไม่มีภาษาไทยให้ลูกหลานใช้ก็เป็นได้

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เข้าพรรษานั้นสำคัญอย่างไร เเล้วเราชาวจันทร์รวี ทำอะไร

และแล้วเทศกาลเข้าพรรษาก็กลับมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญต่อพระสงฆ์มากทีเดียว โดยเป็นช่วงเวลาที่พระสงฆ์ต้องจำพรรษาอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ 

          เพราะ "เข้าพรรษา" ที่แปลว่า "พักฝน" คือ วันที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเวลา 3 เดือน ตามพระธรรมวินัยบัญญัติ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่นซึ่งจะเรียกกันว่า "จำพรรษา" โดยคำว่า "จำ" แปลว่า "อยู่" ส่วนคำว่า "พรรษา" แปลว่า "ฤดูฝน" จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนมาสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งสามารถแบ่งการเข้าพรรษาได้เป็น 2 ประเภท
          1. ปุริมพรรษา คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐิน ซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

          2. ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกล หรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน

          ส่วนสาเหตุของวันเข้าพรรษานั้นเกิดจาก ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์อยู่ประจำพรรษา เหล่าภิกษุสงฆ์จึงต่างพากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตามที่ต่างๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ซึ่งการไม่หยุดพักแม้กระทั่งในฤดูฝน จึงทำให้เกิดเสียงติเตียนจากชาวบ้านว่าอาจจะไปเหยียบย่ำข้าวกล้าและพืชพันธุ์อื่นๆ ของชาวบ้านจนเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินเข้าได้ เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งพระสงฆ์ที่เข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในช่วงเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสาง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น "ขาดพรรษา"

          แต่หากมีกรณีจำเป็นบางอย่าง พระภิกษุผู้จำพรรษาสามารถไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ซึ่งจะเรียกว่า "สัตตาหกรณียะ" เช่นกรณีดังต่อไปนี้

           1. เมื่อทายกหรือทายิกา ปราถนาจะบำเพ็ญกุศล เมื่อมานิมนต์ก็ให้ไปเพื่อรักษาศรัทธาได้ 
           2. ถ้าสงฆ์ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเกิดอธิกรณ์ขึ้น ก็ให้ไปเพื่อระงับอธิกรณ์ได้ 
           3. ถ้าบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ เป็นไข้ เมื่อทราบก็ให้ไปได้ 
           4. พระวิหารในที่แห่งอื่นเกิดชำรุดเสียหาย ให้ไปหาสิ่งของเพื่อมาปฏิสังขรพระวิหารนั้นได้ 
           5. เมื่อถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น พระวิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม ก็ให้ไปจากที่นั้นได้ 
           6. เมื่อชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป ก็ให้ไปกับพวกชาวบ้านได้ โดยให้ไปกับชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธาสามารถที่จะให้ความอุปถัมภ์ได้ 
           7. เมื่อที่ใดเกิดความขาดแคลน อาหารหรือยารักษาโรค ขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง ได้รับความลำบากก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้ 
           8. ถ้าหากมีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้ 
           9. หากภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกัน หรือมีผู้พยายามจะให้แตกกัน ถ้าการไปจากที่นั้นสามารถระงับการแตกกันได้ ก็อนุญาตให้ไปได้

          อีกทั้งในวันเข้าพรรษานั้นถือว่าเป็นกรณียกิจพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ โดยจะมีการประชุมกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาซึ่งกันและกัน เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีเข้าพรรษา ภิกษุจะอธิษฐานในใจตนเองว่าตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า

          อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ หรือว่า อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ ที่แปลว่า ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในอาวาสนี้หรือในวิหารนี้ โดยจะกล่าวทั้งหมด 3 ครั้ง

          หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้วก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญในอาวาสนั้น วันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และพระเถระที่ตนเคารพนับถือ

          ซึ่งระหว่างที่ภิกษุจำพรรษานั้นตามพุทธานุญาตให้สิ่งของที่ประจำตัวได้มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้นกว่าที่พระสงฆ์จะหาที่พักแรมได้ บางครั้งก็ถูกฝนเปียกปอน ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวาย "ผ้าจำนำพรรษา" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ผ้าอาบน้ำฝน" เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยน และยังถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันเป็นพิเศษในช่วงเข้าพรรษา จนเป็นประเพณีทำบุญที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
          โดยการเข้าพรรษานั้นมีประโยชน์ ดังนี้

           1. ช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ก็จะช่วยให้พันธุ์พืชของต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์
           2. หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 - 9 เดือน ก็เป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน
           3. เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา
           4. เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
           5. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา

          แม้ว่าการเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่สำหรับพุทธศาสนิกชนนั้นก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญ รักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส โดยในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวันพุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องใช้อย่าง สบู่ ยาสีฟัน มาถวายพระภิกษุ สามเณร ที่ตนเคารพนับถือ หรือมีการช่วยพระทำความสะอาด, ซ่อมแซม กุฏิหรือวิหาร เมื่อถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาศีลกันที่วัด ไม่ว่าจะเป็นศีลห้าหรือศีลแปดก็ตาม โดยบางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่างๆ เช่น งดสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น

          กิจกรรมที่ขาดไม่ได้ก็คงจะเป็นประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ฤดูเข้าพรรษาของทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษานี้เป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุจะต้องอยู่ประจำวัดตลอด 3 เดือน โดยพระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าและเย็น จึงจะต้องมีการใช้ธูป เทียน เพื่อจุดบูชา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาให้พระภิกษุ อีกทั้งยังเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งเพราะเชื่อกันว่าเป็นการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงฆ์เพิ่มพูนปัญญาทำให้หูตาสว่าง
          ตามชนบทนั้นการหล่อเทียนเข้าพรรษาจะทำกันเอิกเกริกและเป็นที่สนุกสนาน เมื่อหล่อเสร็จแล้วก็จะมีการแห่รอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา 3 เดือน บางแห่งก็มีการประกวดตกแต่งเทียนพรรษาหรือการแห่รอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงาม

          ซึ่งหากใครยังไม่เคยเข้าวัดไปทำกิจกรรมในวันเข้าพรรษา เราขอแนะนำให้ไปลองดู เพราะนอกจากจะได้ทำบุญแล้ว ยังจะช่วยชำระล้างจิตใจของคุณให้ปลอดโปร่ง เพื่อพร้อมผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาได้อีกด้วย
             เเละกิจกรรมของพวกเราชาวจันทร์รวีจะทำในปีนี้ (2554) ก็คือ เราจะร่วมถวายเทียนพรรษา ณ วัดตำหนัก หมู่ที่1 ตำบลเเม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตามสโลเเกนในปีนี้ที่ว่า
"ถือศิสห้าละกิเลส ร่วมจิตน้อมบำเพ็ญธรรม เทิดไท้องค์ราชันย์"
ข้อมูลจาก

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จบเเล้ว พวกเรา ทำอะไรกัน

แนวทางการประกอบอาชีพผู้สำเร็จการศึกษา
สาขางานธุรกิจสถานพยาบาล ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขางานธุรกิจสถานพยาบาลสามารถประกอบอาชีพในโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน  คลินิก สถานีอนามัย  ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน ในตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้...

เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือทางการแพทย์และพยาบาล
ครูพี่เลี้ยงเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและหรือโรงเรียนอนุบาล
เจ้าหน้าที่ต้อนรับและประชาสัมพันธ์ในโรงพยาบาล
เจ้าหน้าที่เวชระเบียน
พนักงานผู้ช่วยทางทันตกรรม
เจ้าหน้าที่ธุรการ เลขานุการ งานสำนักงานในโรงพยาบาล
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล
 
 

คำขวัญ ของเรา

คำขวัญ
วิชาการเป็นเลิศ  เชิดชูเจตบริการ  เชี่ยวชาญงานอาชีพ          
ชาการเป็นเลิศ  ทางโรงเรียนมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าและทักษะในการแสวงหาความรู้โดยมีพื้นฐานทางวิชาการ ตามศาสตร์ แขนงวิชาการเรียนรู้ ซึ่งทำให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ความรู้ที่ได้จากการเรียนไปใช้ในการปฏิบัติได้จริง
เชิดชูเจตบริการ
  ทางโรงเรียนมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีในงานบริการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในงานบริการ
เชี่ยวชาญงานอาชีพ ทางโรงเรียนมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญชำนาญในการปฏิบัติในงานอาชีพตามศาสตร์การเรียนรู้ซึ่งผู้เรียนได้ผ่านการทดลองปฏิบัติได้จริงและผ่านการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง

ปรัชญา

สร้างคนบริการด้วยปัญญา        บนรากฐานกระบวนการวิทยาศาสตร์
สร้างคนบริการด้วยปัญญา หมายถึง การสร้างพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ ในการสร้างงานบริการ โดยใช้ความรู้ที่ได้จาการถ่ายทอดจากครูอาจารย์ภายในโรงเรียนจันทร์รวีอาชีวศึกษา ให้เป็นผู้มีใจรักในงานบริการ มีคุณธรรมจริยธรรม  จิตใจที่ดีงาม  มีวินัยในตนเองมีความรับผิดชอบ  มีความคิดสร้างสรรค์ และมีทักษะในการแสวงหาความรู้
บนรากฐานกระบวนการวิทยาศาสตร์ หมายถึง รากฐานความชำนาญและความสามารถในการใช้การคิดและกระบวนการคิด เพื่อค้นหาความรู้ รวมทั้งการแก้ปัญหาต่างๆ เป็นขั้นตอนการทำงานอย่างเป็นระบบที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์  ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้ ขั้นสังเกตเพื่อระบุปัญหา  ขั้นตั้งสมมติฐาน  ขั้นการรวบรวมข้อมูล ขั้นสรุปผล

ตัวตนของ เรา "จันทร์รวีอาชีวศึกษา"

          มุ่งมั่นสู่การเป็นสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน เพื่อผลิตพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับงานด้าน
ธุรกิจสถานพยาบาล
ป็นที่ยอมรับในประเทศและนานาชาติ             
พันธกิจ
  1. ผลิตผู้สำเร็จการศึกษาที่เกี่ยวกับงานด้านพาณิชยกรรมเพื่อบริการสุขภาพและการท่องเที่ยว
  2. พัฒนาหลักสูตร การศึกษาวิจัยและมาตรฐานวิชาชีพ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ความต้องการของสถานประกอบการ เทคโนโลยี และความต้องการของนักศึกษา
  3. พัฒนาศักยภาพและคุณภาพผู้สำเร็จการศึกษาให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับมาตรฐานสากล คุณวุฒิวิชาชีพ มาตรฐานวิชาชีพ และเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  4. สร้างเครือข่าย ทวิภาคี แหล่งเรียนรู้ สถาบันการศึกษา หน่วยงานทางการศึกษาและสร้างความร่วมมือในการจัดศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
  5. ยกระดับคุณภาพ การพัฒนาบุคลากรการศึกษาและเทคโนโลยีการศึกษา
  6. เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาได้เข้ารับการศึกษา
  7. จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับมาตรฐานการอาชีวศึกษาและระบบการประกันคุณภาพการศึกษา
เป้าประสงค์
  1. เพื่อผลิตบุคลากรด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ให้มีสมรรถนะและคุณภาพเป็นที่ยอมรับขององค์กรภายในประเทศและต่างประเทศ
  2. เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนจันทร์รวีอาชีวศึกษามุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
  3. เพื่อสร้างศักยภาพของบุคลากร ผู้สำเร็จการศึกษาให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้และพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต
  4. เพื่อเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาที่ได้รับการประกันคุณภาพการศึกษา และมีมาตรฐานการศึกษาในระดับสากล
 นโยบายโรงเรียน
  • พัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน มีคุณธรรม มีบุคลิกภาพและเจตคติที่ดีในสาขาวิชาชีพ
  • ผลิตบุคลากรที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน
  • เน้นความชำนาญเฉพาะด้านด้วยการปฏิบัติจริง และสามารถเลือกวิธีการเรียนได้ตามศักยภาพและโอกาสของผู้เรียน
  •  สามารถถ่ายโอนผลการเรียน การสะสมผลการเรียน การเทียบความรู้และประสบการณ์กับสถาบันอื่นๆ ได้ เพื่อประโยชน์ในการเรียนต่อทั้งในภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
  • ประสานความร่วมมือในการจัดการศึกษาร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ

เเนะนำตัว "จันทร์รวีอาชีวศึกษา"

        จันทร์รวีอาชีวศึกษาป็นวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นจากความตั้งใจของผู้ก่อตั้งที่จะผลิตกำลังทรัพยากรบุคคลในสายาชีพที่มีความรู้ความชำนาญในงานอาชีพเฉพาะด้านดยเฉพาะงานการบริการในสถานพยาบาล ซึ่งนับได้ว่า เป็นสายอาชีพที่มีความขาดแคลนกำลัง บุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในงานเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน
     ดังนั้นทางวิทยาลัยอาชีวศึกษาโรงเรียนจันทร์รวี  จึงเล็งเห็นถึงสภาพปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดการเรียนการสอนในสายขอวศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดแรงงานในด้านสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดอัตราการขาดแคลนบุคลากรเฉพาะด้าน และเป็นการส่งเสริมนโยบายของภาครัฐ ในการส่งเสริมและพัฒนาการในการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล

สถานที่ตั้ง
โรงเรียนจันทร์รวีอาชีวศึกษาตั้งอยู่เลขที่ 439/2 หมู่ที่ 7 บ้านตำหนักใหม่พัฒนา ซอยเทศบาลตำบลแม่เหียะ ถนนวงแหวนรอบกลาง ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ 50100 มีเนื้อที่ทั้งหมดจำนวน 6 ไร่ 11 ตารางวา